จริงๆแล้วการไป พุทธคยา ครั้งนี้เพื่อไปทำบุญ ไม่ได้เกี่ยวกับการไปทัศนศึกษาทางด้านฮวงจุ้ยหรอกแต่เนื่องด้วยที่ พุทธคยา นี้เป็นที่เลื่องลือถึงสถานที่ที่รวมพลังจิตจากทุกมุมโลก หลายคนที่เคยไปมาต่างก็สัมผัสถึงพลังพิเศษดีๆ Unseen Energy ในฐานะที่ผมเป็นผู้ศึกษาศาสตร์ฮวงจุ้ย และอยู่ในแวดวงการวางผังตกแต่งภายในสถานนี่ ก็อดไม่ได้ที่จะวิเคราะห์และสังเกตการวางแกน วางทางผังสัญจร ของสถานที่ืี่เป็นจุดศูนย์รวมของพลังศรัทธาของชาวพุทธแห่งนี้
เจดีย์พุทธคยาหันหน้าไปทางตะวันออก โดยมีต้นพระศรีมหาโพธิ์อยู่ด้านตะวันตกของเจดีย์. การวางแกนตะวันออก ตะวันตกของพุทธคยา เกือบเป็นแกนตรงทิศ (90 องศา).
ส่วนแกนด้านทิศเหนือใต้นั้น มีต้นโพธิ์ที่แตกหน่อมาจากต้นพระศรีมหาโพธิ์อยู่ด้านทิศเหนือ ส่วนทิศใต้มีบ่อน้ำพุ และบ่อน้ำขนาดใหญ่อยู่ด้านนอก
ผมไม่แน่ใจว่าใครเป็นผู้วางแกน จัดผังให้สถานที่ศักดิ์สิทธิ์แห่งนี้ ไม่ทราบว่าจะใช่ เซอร์ อเล็กซานเดอร์ คันนิ่งแฮม กับ ด.ร.ราเชนทรลาละ มิตระ ผู้มาบูรณะเมื่อปี 2417 หรือไม่ แต่ที่แน่ๆต้องยอมรับว่าวางแกนและจัดผัง ได้ยอดเยี่ยมมาก
สิ่งที่ควรพิจารณาเป็นกรณีศึกษา
1. ผังพื้นที่เป็นสี่เหลี่ยมสมมาตร สมดุล ซึ่งทางฮวงจุ้ยถือว่าเป็นทรงที่มั่งคง มงคลอันดับหนึ่ง
2.แกนทั้งสี่ด้าน ตะวันออก----ตะวันตก. เหนือ------ใต้. มีสัญลักษณ์สำคัญของสถานที่อยู่ตรงแกนทั้งสี่ด้าน เหนือ=ต้นโพธ์ิ. ใต้=บ่อน้ำ. ตะวันออก=ซุ้มทางเข้า. ตะวันตก=ต้นพระศรีมหาโพธิ์ ไม่ว่าฟ้า ดาวจะเปลี่ยนยุคไปด้านไหนก็มีจุดตั้งรับทั้งสิ้น
3.การจัดผังที่ได้สมดุลที่ดีของสัตว์สวรรค์ทั้งสี่ ด้านหน้าหันหน้าเข้าแม่น้ำเนรัญชรา เป็นหงส์แดง. ด้านหลังเต่าดำ นั้นควรเป็นจุดที่มั่งคง ขุนเขา หรือ ประธาน ซึ่งในที่นี้ก็คือ ต้นพระศรีมหาโพธิ์นั่นเอง. ด้านซ้ายมังกรเขียวควรเป็นสัดส่วนที่สูงรองจากด้านหลังเต่าดำนั่นก็คือ ต้นโพธิ์ต้นรองจากต้นพระศรีมหาโพธิ์. ส่วนเสือขาวถ้าดูจากผังจะเห็นเป็นจุดที่ต่ำกว่าจุดเต่าดำและมังกรเขียว
4.การจัดวางการสัญจร การเคลื่อนของพลังภายในพื้นที่ที่ต้องบอกว่าเหนือชั้นและได้พลังมหาศาล
ผู้แสวงบุญที่ไปที่นี่จะรู้กันดีว่ามีลานให้เดินรอบพุทธคยา รอบในคือลานรอบต้นโพธิ์และองค์เจดีย์ ที่ทุกคนจะต้องเดินไปเพื่อสักการะต้นพระศรีมหาโพธิ์และพระพุทธเมตตา รอบนอกสุดจะทำเป็นระเบียงทางเดินที่อยู่สูงจากลานด้านในขึ้นไป ซึ่งลานระเบียงทั้งสองจะมีชาวพุทธตั้งจิตที่ดี เดินวนรอบตามเข็มนาฬิกาแบบเดียวกับการเดินเวียนเทียน ตลอดทั้ง 24 ชั่วโมง แม้พุทธคยาจะปิดประตูตอนสามทุ่ม และเปิดตอนตีสี่ แต่ระหว่างการปิดนั้นก็ยังมีทั้งผู้แสวงบุญและพระจากทั่วโลกอยู่ด้านในตลอดเวลา ถ้าเป็นชาวไทยมักจะเดินรอบ แต่ที่ผมเห็นมีจากบางชาติใช้การนอนราบแล้วค่อยๆเคลื่อนตัวแบบคลื่น เคลื่อนไปเรื่อยๆ(ขออภัยด้วยครับถ้าใช้คำผิดในการบรรยาย)
การเคลื่อนของพลังแบบนี้ถือเป็นสุดยอดของการเคลื่อนพลังชี่ทางฮวงจุ้ยยากจะหาที่ไหนมาเทียบได้ ทำไมจึงกล้าฟันธงเช่นนั้น
สุดยอดชั้นที่หนึ่ง.........ทั้งทางฮวงจุ้ย. ทางพุทธ หรือทางสากล ล้วนเห็นตรงกันว่าการเคลื่อนตามเข็มนาฬิกานั้นเป็นการขับเคลื่อนที่ดี รุ่ง เจริญ ทางพุทธเราก็เวียนเทียนตามเข็มนาฬิกา ทางสากลเวลาเราจะหมุน,ขันเปิด ขันเข้า ขันประกอบ ส่วนใหญ่จะตามเข็มทั้งสิ้น ดังนั้นการเดินรอบของชาวพุทธตามเข็มจึงเป็นการสร้างพลังสัญจรที่ดี.
สุดยอดชั้นที่สอง.......พลังการสัญจรนั้นเคลื่อนตลอดเวลา เคลื่อนหลายรูปแบบ(ทั้งเดิน นั่ง นอน) และเคลื่อนสองชั้นเสียด้วย
สุดยอดชั้นที่สาม.....การสัญจรนั้นเป็นการเคลื่อนของคนที่มีพลังจิตการตั้งจิตที่ดี แต่ละคนที่มาล้วนมีบารมีดี. และมาจากที่หลากหลายทั่วโลก การจัดฮวงจุ้ยเรามักจะจัดให้มีการเคลื่อนไหว แต่อย่างเก่งก็เป็นการเคลื่อนของวัตถุเสียเป็นส่วนใหญ่. มีบางที่ที่แม้จะเหนือชั้นใช้พลังชี่จากคน แต่ไม่สามารถจัดพลังชี่จากคนได้ตลอดยี่สิบสี่ชั่วโมง ซ้ำเป็นพลังชี่จากคนทั่วไปที่ไม่ได้ตั้งจิต จึงมีปะปนมาทั้งจิตดีและไม่ดี และผู้คนก็ไม่ได้หลากหลายจากทั่วโลกแบบที่นี่
สุดยอดที่สี่.......คนที่เคยไปพุทธคยาถ้าสังเกตจะพบว่าบริเวณเจดีย์และต้นโพธิ์นั้น เปรียบเสมือนหลุมขนาดใหญ่ เพราะต้องเดินลงบันไดนับสิบขั้นจึงจะถึงพื้นลานรอบต้นพระศรีมหาโพธิ์ ระดับพื้นนี้เองที่เป็นจุด climax ของเรื่อง เพราะเป็นระดับพื้นจริงตั้งแต่สมัยพุทธกาล และบริเวณพื้นลานนี้ก็เป็นพื้นที่พระสัมมาสัมพุทธเจ้าเคยเดินจงกรมเมื่อ 2,500 กว่าปีมาแล้ว!!!!!
ที่ระดับพื้นชั้นรอบนอกสูงกว่ามากเพราะเกิดจากตะกอนแม่น้ำทับถมกันมาสองพันกว่าปี โชคดีที่ตอนที่บูรณะเขาอนุรักษ์ระดับพื้นเดิมไว้
นั่นหมายถึงลานแห่งนี้สะสมพลังจิตชั้นสูง สามารถรักษาพลังจิตแห่งศรัทธาของผู้คนมามากกว่าสองพันห้าร้อยปี อย่างนี้ที่ไหนหรือจะเทียบเทียมได้
สุดยอดที่ห้า......เหมือนส่วนเสริม ดังที่บอกไว้ตอนต้นว่า ที่นี่มีการปรับปรุงเปลี่ยนแปลง หมุนเวียนตลอดเวลา นั่นก็เกิดจากแรงศรัทธาของชาวพุทธนั่นเอง คณะที่ผมไปกันก็เป็นส่วนหนึ่งที่ไปเปลี่ยนหมุนเวียนกับเขาด้วย คือมีการไปเปลี่ยนหลอดไปโดยรอบสถานที่ และเพิ่งทราบว่าเมื่อปีที่แล้วว่ามีการปิดหล่อทองที่ยอดของพุทธคยา ก่อนหน้านี้ผมเคยได้ยินได้เห็นรูปถ่ายแสงแปลกๆคล้ายๆปาฏิหาริย์ที่พุทธคยา มาคราวนี้ ได้เห็นชาวคณะหลายคนเอารูปมาอวดกันว่าถ่ายติดในแง่มุมแปลกๆ แต่ละคนก็ไม่ซ้ำกัน ตัวผมเองก็ได้ถ่ายรูปพุทธคยาไว้หลายภาพหลายมุมพบว่า
บางภาพถ่ายมุมเดียวกันแท้ๆเพียงชั่วระยะไม่กี่นาที กดถ่ายภาพอีกครั้งบรรยากาศก็เปลี่ยนไปแล้ว คงจะเกิดจากการให้แสงที่หมุนเวียนเปลี่ยนไปเรื่อยๆ เรื่องการใช้แสงทางฮวงจุ้ยนั้นผมเคยได้ยินมาบ้างที่ฮ่องกง มาเก๊า ที่เขาเล่นแสง ยิงแสงแก้ฮวงจุ้ยกันสนุกสนาน แต่นั่นก็ออกแนวแฟนตาซี ฉูดฉาด โฉ่งฉ่างกันซะมาก นึกไม่ถึงว่าจะได้มาเจอที่พุทธคยา และยิ่งนึกไม่ถึงใหญ่ว่าจะทำได้ดี มีระดับ มีศิลปะกว่ามาก
เล่ามาถึงบรรทัดนี้คงจะมีพวกต่อต้านฮวงจุ้ย นึกโวยใส่ผมแน่ว่า ขี้ตู่ เอะอะ อะไรก็เอาฮวงจุ้ยมาจับ ซึ่งผมก็ว่าจริงๆแล้วสถานที่แห่งนี้คงมิได้มีซินแสมาแนะนำการจัดฮวงจุ้ยหรอก แต่เรื่องการวางผัง วางแกน จัดการสัญจร จัดแสงนั้นก็เป็นทักษะสากลที่ใครๆที่มีประสาทสัมผัสที่ดีก็สามารถจัดทำออกมาได้ดีได้ โดยไม่ต้องจ้างซินแสด้วยซ้ำ ซึ่งผมก็เห็นมาแล้วในหลายๆที่ และการที่ผมศึกษาทั้งด้านฮวงจุ้ย และการวางผังทางสถาปัตย์ ผมก็ย่อมใช้ทักษะในศาสตร์ที่ผมรู้ ประสบการณ์ของตนเอง มาพิจารณาวิเคราะห์เปรียบเทียบเพื่อนำไปผสมผสานปรับใช้ต่อไปมันจะเสียหาย ใส่บ่าแบกหามตรงไหน ( ขออภัยด้วยครับ ลืมตัวไปหน่อยนึกว่ากำลังถกเถียงกับเพื่อนพวก Anti Feng Shui)
สุดยอดที่หก...........การไหวเวียน ปรับเปลี่ยน เคลื่อนไหว ไม่ได้มีแต่องค์เจดีย์และบริเวณรอบนอกเท่านั้น ภายในที่เป็นที่ประดิษฐานขององค์พระพุทธเมตตา ก็มีการหมุนเวียนไม่หยุดนิ่งเช่นกัน เรียกได้ว่าหมุนเวียนทั้ง Inside และ Outside เลย ดูรูปเอาเองก็แล้วกันครับ ผมไปพุทธคยาสามวัน มีโอกาสเข้าไป 4-5 ครั้ง ผ้าไตรจีวรไม่ซ้ำกันเลย เพราะมีชาวพุทธมาถวายมิได้ขาด ทั้งจากไทย จีน ธิเบต และที่อื่นๆจากทั่วโลก ผ้าไตรเหล่านี้ล้วนเกิดจากการใส่จิต ใส่ใจของผู้มาถวาย บรรจงปักอย่างสวยงาม แม้ผืนที่เป็นสีเรียบก็ทำจากผ้าไหมอย่างดี ตาลปัตรและรัศมีเพชรด้านหลังนั้นก็เพิ่งประดับตกแต่งเมื่อไม่นานมานี้ สั่งทำจาก Swarovski crystal อย่างดี คิดดูแล้วกันครับว่าเป็นการหมุนเวียนระดับไหน
เรื่องที่อินเดียยังไม่จบครับโปรดติดตามตอนต่อไป
ไม่มีความคิดเห็น:
แสดงความคิดเห็น